Tag Archives: อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันการพัฒนาในทุกด้านย่อมมีเป้าหมายเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและสังคม แนวคิดนิเวศอุตสาหกรรมหรือ Industrial Ecology จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนา ออกแบบระบบอุตสาหกรรมใหม่ให้คล้ายคลึงกับระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ที่อยู่บนหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานให้ชนรุ่นหลังสืบต่อไป

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการผลิตและการบริโภคสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวมถึงสุขภาพของคนในชุมชน ได้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนอาหารและพลังงาน ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ได้ทำให้ระบบนิเวศไม่สามารถรองรับและปรับสมดุลได้ทันต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ นิเวศเชิงพื้นที่เกิดขึ้นมากมายและหลากหลายรูปแบบ เช่น นคร/เมืองขนาดใหญ่นิเวศ เมืองนิเวศ และ นิคมอุตสาหกรรมนิเวศ เป็นต้น ซึ่งโดยภาพรวม หมายถึง พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้สามารถพัฒนาและใช้แนวคิดและเครื่องมือ/กลไกการบริหารจัดการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้หลากหลายและแตกต่างกัน

อุตสาหกรรมเชิงนิเวศถูกพัฒนามาจากหลักการนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการผลิตไปสู่กระบวนการบริโภค ที่ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการออกแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการแปรรูปใช้ใหม่ ให้มากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความพยายามเชื่อมโยงระบบอุตสาหกรรมกับระบบนิเวศวิทยาตามธรรมชาติ ซึ่งพิจารณาวงจรของวัสดุในระบบปิด โดยใช้ของเสียจากโรงงานหนึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบทางเลือกให้อีกโรงงานหนึ่ง เปรียบเสมือนระบบนิเวศวิทยาตามธรรมชาติที่ของเสียจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งในระบบธรรมชาติสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อยู่ภายในระบบเดียวกันได้ ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยหลักการความสัมพันธ์ภายในอุตสาหกรรม (Industrial symbiosis) ที่เกิดขึ้นระหว่างอุตสาหกรรม ผ่านการศึกษาวงจรการไหล(Flow) ของวัตถุดิบ พลังงานน้ำ ของเสีย ผลิตผลพลอยได้ และทรัพยากรอื่นๆ ภายในระบบอุตสาหกรรมเชื่อมโยงไปถึงมิติเชิงเศรษฐกิจทั้งในระดับพื้นที่ และระดับภูมิภาค

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

อุตสาหกรรมเชิงนิเวศถูกพัฒนามาจากนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการผลิตไปสู่กระบวนการบริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการออกแบบผลิตภัณฑ์และการแปรรูปใช้ใหม่ ซึ่งตัวอย่างของนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เช่น การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมย่อยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กระทำโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของวัตถุดิบและพลังงาน และการปรับปรุงเชิงวิศวกรรมซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเศรษฐกิจระดับจุลภาค (Micro-scale Eco Industrial Design) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มผลิผลในการใช้ทรัพยากรในวิสาหกิจหนึ่งๆ ให้สูงขึ้นเพื่อลดการเกิดของเสียเช่น การรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเศรษฐกิจระดับกลาง (Meso-scale Eco Industrial Design) เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับท้องที่ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของตำบล เช่น นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับมหภาค (Macro-scale EcoIndustrial Park) เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับภูมิภาค อย่างเช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมระดับจังหวัด โดยจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา เครือข่ายของนิคมอุตสาหกรรมในการสร้างพันธมิตรระหว่างกัน

ฉะนั้นแล้วอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ถือเป็นรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานหรือการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้คุ้มค่า และลดการปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทั้งนี้ต้องผ่านการตรวจสอบโดยได้รับการยอมรับจากชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบและโดยรวม ตลอดการดำเนินงานอยู่ภายใต้หลักการความร่วมมือพึ่งพากันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งหน่วยงานรัฐท้องถิ่น และชุมชน เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือความตระหนักในเรื่องของการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่ยั่งยืน การพัฒนาเทคโนโลยีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความตระหนักต่อการจัดการของเสียในประเทศซึ่งทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยจัดการและดูแลในเรื่องเหล่านี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากอีกทั้งปัจจุบันมีกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้นซึ่งทำให้เป็นการสร้างการยอมรับให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจและเกิดการกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดี