Tag Archives: การพัฒนาอุตสาหกรรม

การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ต้องเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดทิศทางให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs พัฒนาสู่ความเป็นเลิศและก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมปี 2555-2574 ซึ่งจะเป็นการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมไทยด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้ประกอบการตระหนักและเรียนรู้การดำเนินธุรกิจแบบใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและชุมชน

กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

“กระทรวงอุตสาหกรรม วางกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคตให้อยู่ภายใต้แนวความคิดของอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการ ดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งระบบเกิดความยั่งยืน โดยจะต้องคำนึงถึงการผลิตที่เกิดความสมดุลใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เติบโตพัฒนาไปพร้อมๆ กัน”

กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันแนวความคิดเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังทันที หลังจากที่มีการประกาศเป็นแนวนโยบายประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพราะตระหนักดีว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในยุคปัจจุบันของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งตื่นตัวและผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม

“ในอนาคต อุตสาหกรรมไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศ และการแข่งขันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในอีก 2 ปีข้างหน้า ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ เชื่อว่า อุตสาหกรรมสีเขียวจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าสำหรับต่างประเทศอีกตัวหนึ่งด้วย”

สำหรับการอยู่ร่วมกับระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชนอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างมาก จึงเร่งผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้เกิดประสิทธิภาพทางด้านการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ และที่สำคัญเป็นไปตามเงื่อนไขของการค้าเสรี ที่เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยของเสียและมลพิษสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดความสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

“การผลักดันของหน่วยงานรัฐเพื่อให้ภาคการผลิตมุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกับระบบนิเวศ ทั้งความสุข สงบของชุมชน เช่น การอนุรักษ์พลังงานในกระบวนการผลิต การใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่เหมาะสม การพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับผู้ประกอบการ”

แนวทางเพื่อการพัฒนาธุรกิจด้านอุตสาหกรรมของประเทศ

การที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและโดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต้องมีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กร ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของภาคเอกชนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการสะท้อนปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อภาครัฐ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการกระจายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ

การขยายตัวในการลงทุนทางอุตสาหกรรมที่ผ่านมา

มีอัตราสูงกว่าสาขาอื่นๆ อุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นส่วนมากเป็นประเภทผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ น้ำมัน ยางรถยนต์ กระดาษ เหล็กเส้น นมข้นหวาน สายไฟฟ้า กระจกแผ่นการประกอบรถยนต์และจักรยานยนต์ เป็นต้น จะมีอุตสาหกรรมที่ทดแทนการส่งวัตถุดิบออกอยู่บ้างก็เป็นจำนวนน้อย เช่น โลหะดีบุก ผลิตภัณฑ์ไม้ และเพชรพลอยเจียรนัย การขยายตัวของอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว เป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เอื้ออำนวยให้เกิดอุตสาหกรรมได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สิทธิประโยชน์ในทางลดหย่อนหรือได้รับการยกเว้นภาษีอากรวัตถุดิบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

อุตสาหกรรมส่งออกหลายประเภทต้องประสบกับปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากอุปสรรคด้านการผลิตและนโยบายการให้ความคุ้มครองภายในของประเทศผู้ซื้อ มาตราการสนับสนุนการส่งออกเท่าที่มีอยู่เป็นเพียงแต่การคืนภาระภาษีที่เรียกเก็บมาแล้ว นโยบายการส่งออกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นโดยไม่ได้พิจารณาผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าได้ให้ความสำคัญแก่สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคมากกว่าสินค้าประเภทวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ รวมทั้งประเภททุนอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า มีการใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศมากกว่าการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม

(1) รัฐจะสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการผลิตอุตสาหกรรมเพื่องส่งออกให้เพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณและประเภทของอุตสาหกรรม โดยการปรับปรุงแก้ไขมาตรการส่งเสริมการส่งออกและจะหาทางขยายและกระจายตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น
(2) รัฐจะสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าโดยเฉพาะประเภทกึ่งวัตถุดิบ ประเภททุน และประเภทที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นจำนวนมาก จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ

แนวทางการการพัฒนาอุตสาหกรรม

(1) ดำเนินการส่งเสริมการส่งออก โดยใช้ระบบความช่วยเหลือทั้งในด้านการตลาดและด้านเงินอุดหนุน
(2) เร่งรัดการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมส่งออกในเขตท่าเรือและสนามบินพาณิชย์
(3) ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้ากึ่งวัตถุดิบและประเภททุน
(4) ปรับปรุงแก้ไขมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาการผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้าและการผลิตเพื่อส่งออกไม่ให้มีผลในทางที่ขัดแย้งกับความเจริญและการพัฒนาอุตสาหกรรม