Daily Archives: 2015/22/08

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันการพัฒนาในทุกด้านย่อมมีเป้าหมายเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและสังคม แนวคิดนิเวศอุตสาหกรรมหรือ Industrial Ecology จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนา ออกแบบระบบอุตสาหกรรมใหม่ให้คล้ายคลึงกับระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ที่อยู่บนหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานให้ชนรุ่นหลังสืบต่อไป

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการผลิตและการบริโภคสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวมถึงสุขภาพของคนในชุมชน ได้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนอาหารและพลังงาน ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ได้ทำให้ระบบนิเวศไม่สามารถรองรับและปรับสมดุลได้ทันต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ นิเวศเชิงพื้นที่เกิดขึ้นมากมายและหลากหลายรูปแบบ เช่น นคร/เมืองขนาดใหญ่นิเวศ เมืองนิเวศ และ นิคมอุตสาหกรรมนิเวศ เป็นต้น ซึ่งโดยภาพรวม หมายถึง พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้สามารถพัฒนาและใช้แนวคิดและเครื่องมือ/กลไกการบริหารจัดการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้หลากหลายและแตกต่างกัน

อุตสาหกรรมเชิงนิเวศถูกพัฒนามาจากหลักการนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการผลิตไปสู่กระบวนการบริโภค ที่ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการออกแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการแปรรูปใช้ใหม่ ให้มากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความพยายามเชื่อมโยงระบบอุตสาหกรรมกับระบบนิเวศวิทยาตามธรรมชาติ ซึ่งพิจารณาวงจรของวัสดุในระบบปิด โดยใช้ของเสียจากโรงงานหนึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบทางเลือกให้อีกโรงงานหนึ่ง เปรียบเสมือนระบบนิเวศวิทยาตามธรรมชาติที่ของเสียจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งในระบบธรรมชาติสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อยู่ภายในระบบเดียวกันได้ ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยหลักการความสัมพันธ์ภายในอุตสาหกรรม (Industrial symbiosis) ที่เกิดขึ้นระหว่างอุตสาหกรรม ผ่านการศึกษาวงจรการไหล(Flow) ของวัตถุดิบ พลังงานน้ำ ของเสีย ผลิตผลพลอยได้ และทรัพยากรอื่นๆ ภายในระบบอุตสาหกรรมเชื่อมโยงไปถึงมิติเชิงเศรษฐกิจทั้งในระดับพื้นที่ และระดับภูมิภาค