การพัฒนาทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อความก้าวหน้าของเศรษฐกิจของไทย

ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 99.8% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ และเป็น 78.2% ของการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550-2552) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นว่าผลิตภาพการผลิตโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร โดยมีการขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 1.1% และประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าในสัดส่วนที่สูง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555-2559) และแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574 จึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สมดุลและยั่งยืนดังนี้

ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สร้างและพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ ส่งเสริมการยกระดับองค์ความรู้และทักษะผู้ประกอบการ รวมทั้งพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลภาคอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่ส่งเสริมประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิต สนับสนุนการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างคุณค่าสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งประสานความร่วมมือการพัฒนาระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันเฉพาะทางในการฝึกอบรมบุคลากรให้มีทักษะ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และนักวิจัยให้เพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิต และพัฒนาบุคลากรวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่มีบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานจริงในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ ในสภาวะที่ค่าจ้างแรงงานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ และการควบคุมในด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดมากขึ้น การที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมจะสามารถมีธุรกิจที่แข่งขันได้และมีความยั่งยืน ก็จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนด้านวิจัย และพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าสูงขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งบุคคลากรที่มีความชำนาญในเรื่องวิจัยและพัฒนา โดยที่ค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงนี้เป็นผลให้ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมไม่สามารถแบกภาระนี้ไว้ได้ เป็นผลให้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อประสิทธิภาพ และ/หรือประสิทธิผลของการผลิตเลย ดังนั้น การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ภาครัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ในด้านการวิจัยและพัฒนา และการสร้างกำลังคนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ก็มีเป้าหมายที่จะเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและครูวิทยาศาสตร์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและนำพาประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้แบบสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่